วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

การเลี้ยงไก่ชน

ประดู่หางดำ

ไก่ชน พันธุ์ ประดู่หางดำ ไก่ชนพันธุ์ประดู่หางดำ มีลักษณะเด่นๆ พอที่จะสังเกตได้ดังนี้
  • ปาก เป็นสายพันธุ์ไก่ชนที่มีปากสีดำ อูมใหญ่ โดยปากจะคล้ายปากนกแก้ว ปากบนมีร่องน้ำทั้งสองข้าง ระหว่างร่องน้ำจะเป็นสันราง
  • ตา ตาสีประดู่ หรือแดงอมม่วง หรือตาออกสีดำ หรือสีแดง
  • หงอน หงอนหินไม่มีจักเลย
  • สร้อยคอ สร้อยคอสีประดู่ยาวประบ่า ปีกใหญ่ยาว สร้อยปีกสีเดียวกับสร้อยคอ สร้อยหลังสีประดู่ยาวระย้าประก้น
  • ขน ขนลำตัวขนปีกและหางสีดำ กะลวยหางดำ โคนขาใหญ่
  • หน้าอก หน้าอกกว้าง และยาวเนื้อเต็มแน่น
  • ขาแข้ง เล็บและเดือย สีดำ
  • เพศเมียสีเดียวกับเพศผู้แต่ไม่มีสร้อย
ไก่ประดู่หางดำ ที่สมาคมอนุรักษ์และพัฒนาไก่พื้นเมือง รับรองพันธุ์มี 4 ชนิด คือ
  1. ประดู่มะขาม ถ้าสีแก่เรียกมะขามไหม้ ลักษณะขนพื้นตัวสีดำ ขนปีก ขนหาง สีดำ ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลังสีประดู่แบบเม็ดมะขามแก่ ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีน้ำตาลไหม้(แก่) ตาสีไพล ขนปิดหูสีประดู่
  2. ประดู่แสมดำมะขามไหม้ ลักษณะเหมือนประดู่มะขามทุกอย่าง ยกเว้น ปาก แข้ง เล็บ เดือย และตาสีดำ
  3. ประดู่แข้งเขียวตาลาย ลักษณะเหมือนประดู่มะขาม ต่างกันตรงปาก แข้ง เล็บ เดือย สีเขียวอมดำ ตาลายดำ
  4. ประดู่แดง ลักษณะเหมือนประดู่อื่นทั่วๆไป ต่างกันตรงสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลังสีออกแดง(น้ำตาลแดง) ปาก แข้ง เล็บ เดือยสีน้ำตาล ตาสีแดง
มีไก่ประดู่หางดำอีกชนิดหนึ่ง ลักษณะประจำพันธุ์ไม่แน่นอน พื้นตัวสีดำ ขนหาง ขนปีกสีดำ ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลังสีประดู่เหมือนทั้ง 4 ตัวดังกล่าว แต่ปาก แข้ง เล็บ เดือยสีไม่แน่นอน มีสีดำ สีเขียว สีน้ำตาล ปะปนกันอยู่ และตาก็สีไม่แน่นอน มีสีดำ สีสวย สีไพล สีแดงปะปนกันอยู่ ไก่พวกนี้ถือว่าผสมข้ามพันธุ์มาจากประดู่ทั้ง 4 ชนิด ลูกออกมาจึงผิดเพี้ยนไปจากพันธุ์เดิม ในวงการประกวด ไก่ประดู่หางดำทั่วๆไป ก็อนุโลมอยู่ในพวกไก่ประดู่หางดำแต่เลือดไม่ใช่เฉพาะพันธุ์ การตัดสินการประกวดไก่ประดู่หางดำ ต้องใช้อุดมทัศนีย์ไก่ประดู่หางดำมาพิจารณาทั้ง 4 ตัว และอนุโลมตัวที่ 5 เข้าไปด้วย เป็นไก่ประดู่หางดำทั้งหมดทุกตัวเสมอภาคกัน ส่วนใครจะเหนือ ใครชนะใคร อยู่ที่ความสวยงามทั้ง 5 ของไก่ คือ
  1. หน้าตา
  2. สีสัน
  3. รูปร่าง
  4. เกล็ดแข้ง
  5. กิริยาชั้นเชิง

เหลืองหางขาว

ไก่ชนพันธุ์เหลืองหางขาว ไก่ชนพระนเรศวรมหาราช
ความเป็นมา
ไก่ชนพระนเรศวรมหาราช ไก่ชนพระนเรศวรมหาราช เป็นไก่ชนตามประวัติศาสตร์ซึ่งปรากฏอยู่ในพงศาวดาร เมื่อครั้งที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงพำนักอยู่ในกรุงหงสาวดี ประเทศพม่า พระองค์ทรงนำไก่เหลืองหางขาวไปจากเมืองพิษณุโลก เพื่อนำไปชนกับไก่ของพระมหาอุปราชา เป็นไก่ชนที่มีลักษณะพิเศษมีความเฉลียวฉลาดในการต่อสู้ ไก่ชนพระนเรศวรมหาราช จึงชนชนะ จนได้รับสมญาว่า "เหลืองหางขาว ไก่เจ้าเลี้ยง" ซึ่งสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลก ได้ศึกษาค้นคว้า และทำการส่งเสริมเผยแพร่ โดยจัดประกวดครั้งแรกขึ้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2533 และในปี 2534 ได้จัดตั้ง ชมรมอนุรักษ์ไก่ชนพระนเรศวรมหาราชขึ้นที่ ตำบลหัวรออำเภอเมืองจังหวัดพิษณุโลกโดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การ บริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลกจนถึงปี 2542 ได้จัด ตั้งกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ไก่ชนพระนเรศวรมหาราชขึ้นทุกอำเภอ รวม 12 กลุ่มเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาสายพันธุ์ให้คงอยู่ เป็นสมบัติคู่ชาติตลอดไป
แหล่งกำเนิด
ไก่ชนพระนเรศวรมหาราช เป็น ไก่ชนสายพันธุ์เหลืองหางขาว และ เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปแล้วว่า มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลกจนถึงขณะนี้ ไก่ชนพระนเรศวรมหาราช นับว่าเป็นของดีของจังหวัดพิษณุโลก และ เป็นสมบัติของชาติไทย ที่กำลังได้รับความสนใจ กันอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ ดังนั้น เพื่อให้การอนุรักษ์ และ พัฒนาสายพันธุ์ ไก่ชนพระนเรศวรมหาราช ไก่ชนพระนเรศวรมหาราช ดำเนินไปในทิศทางเดียวกันคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์และลักษณะประจำพันธุ์ที่แน่นอน สำนักปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลกจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานพันธุ์ ไก่ชนพระนเรศวรมหาราชขึ้นเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2542 ดังต่อไปนี้ สายพันธุ์ เหลืองหางขาว เพศผู้ มีน้ำหนักตั้งแต่ 3 กิโลกรัมขึ้นไป สูงตั้งแต่ 60 เซนติเมตรขึ้นไป(วัดจากใต้ ปากล่างตั้งฉากถึงพื้นที่ยืน) เพศเมีย มีน้ำหนักตั้งแต่ 2 กิโลกรัมขึ้นไป สูงตั้งแต่ 45 เซนติเมตรขึ้นไป
ไก่ชนพันธุ์เหลืองหางขาว มีลักษณะเด่นๆ พอที่จะสังเกตได้ดังนี้
  • สี ออกเหมือนดอกโสน ขาวอมแดง ขาวอมเหลือง
  • ปาก ปากใหญ่ขาว คือ ปากสีขาวอมเหลืองหรือสีงาช้าง ปากยาวอวบใหญ่คล้ายกับปากนกแก้ว มีร่องน้ำเห็นได้อย่างชัดเจน ตรงกลางนูนเป็นสันราง ตา ตาขาวจะมีเส้นสีแดงๆ เรียกว่าตาเพชร ตาเป็นลักษณะตาเหยี่ยว หัวตาแหลม ตาดำคว่ำ เล็กหรี่ รอบตาดำสีขาวอมเหลือง หาง ขนหางกระรวยมีสีขาว พุ่งออกยาวมองเห็นได้เด่นชัด ถ้ายิ่งขาวและยาวมากๆ จะดีมาก ขนหางควรพุ่งตรงและยาว ปลายหางโค้งตกลงเพียงเล็กน้อย ขาแข้งและเดือย มีสีขาวอมเหลือง เป็นสีเดียวกับปาก เกล็ดมีลักษณะแข็งและหนาแน่นเรียบ เดือยใหญ่แข็งแรง นิ้วยาว เล็บสีขาวอมเหลืองทุกเล็บ ไม่มีสีอื่นๆปนเลย
  • หงอน ด้านบนของหงอนจะบาง เรียบ ปลายหงอนยาวเลยตา โคนหงอนที่ติดกับหนังศรีษะหนาแน่น อาจมีลักษณะเป็นหงอนแจ้ หงอนหิน หงอนบายศรี
  • ตุ้มหู จะมีสีแดงสีเดียวกับหงอน ไม่มีสีขาวเลย ตุ้มหูมีขนาดเล็ก รัดรับกับใบหน้า ไม่หย่อนยาน
  • เหนียง เล็ก รัดติดกับคาง ไม่ยานหรือไม่มีเหนียง
  • รูปหน้า เล็ก แหลม ยาว มีเนื้อแน่น ผิวหน้าเรียบเป็นมัน กะโหลกศรีษะหนาและยาว
  • อก อกไก่จะแน่นกลม มีเนื้อเต็ม กระดูกอกหนา ยาว และตรง
    หลัง เป็นแผ่นกว้าง มีกล้ามเนื้อมาก มองดูแล้วเรียบตรง ไม่โค้งนูน
  • ไหล่ ตั้ง ยกตรง มีความกว้างพอสมควร
  • คอ ยาว ใหญ่ กระดูกข้อถี่
  • ปั้นขา จะใหญ่แข็งแรง มีเนื้อมาก กล้ามเนื้อแน่น
  • สร้อยคอ เหลือง หรือเหลืองแกมส้ม สร้อยคอยาวต่อกับสร้อยหลัง
  • สร้อยหลัง เป็นสีเดียวกับสร้อยคอ ควรเรียงกันเต็มแผ่นหลัง เริ่มตั้งแต่โคนคอจนถึงโคนหาง เส้นขนละเอียดยาวเป็นระย้า
  • สร้อยปีก สีเดียวกับสร้อยคอ เรียงกันแน่นเต็มบริเวณหัวปีกจนถึงปีกชัย มองดูเป็นแผ่น

ไก่เหลืองหางขาว ที่ประกาศรับรองพันธุ์

ไก่เหลืองหางขาว สมาคมฯ ได้กำหนดอุดมทัศนีย์ไว้ และประกาศรับรองพันธุ์ไปแล้ว 6 ชนิด คือ
  1. เหลืองใหญ่พระเจ้า 5 พระองค์ ขนพื้นตัวสีดำ ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง สีเหลืองแก่ดังสีทองแท่ง ขนปีกในสีดำ ขนปีกนอกสีขาว ขนหางพัดสีดำปลายขาว ขนหางกะลวยสีขาวปลายดำ คู่กลางขาวปลอด ปาก-แข้ง-เล็บ-เดือย สีขาวอมเหลือง แบบสีงาช้าง ตาสีตาปลาหมอตาย (ขาวอมเหลืองอ่อน) ขนปิดรูสีเหลืองแบบสร้อย มีหย่อมกระพระเจ้า 5 พระองค์
  2. ไก่เหลืองรวกพระเจ้า 5 พระองค์ ลักษณะเหมือนไก่เหลืองใหญ่ทุกประการ แต่ต่างกันตรงสีขน สร้อยคอ สร้อยหลัง สร้อยปีก เป็นสีเหลืองกลางดังสีทองทา หรือสีไม้รวกแก่แห้ง
  3. ไก่เหลืองโสนพระเจ้า 5 พระองค์ ลักษณะเหมือนไก่เหลืองใหญ่ทุกประการ แต่ต่างกันตรงสีขน สร้อยคอ สร้อยหลัง สร้อยปีก เป็นสีเหลืองอ่อนดังสีทองเปลว(ทองปิดพระ) หรือสีดอกโสน หรือดอกคูณ
  4. เหลืองเลาพระเจ้า 5 พระองค์ ลักษณะเหมือนเหลืองใหญ่ เหลืองรวก เหลืองโสนทุกประการ ต่างกันตรงสร้อคอ สร้อยหลัง สร้อยปีก โดยโคนสร้อยจะเป็นสีขาว ปลายสร้อยจะเป็นสีเหลือง ส่วนไก่เหลืองพระเจ้า 5 พระองค์ตัวอื่นๆ โคนสร้อยจะเป็นสีดำปลายเหลือง
  5. ไก่เหลืองทับทิม ลักษณะจะเหมือนเหลืองทั้ง 4 ที่กล่าวมา ต่างกันตรงสร้อยคอ สร้อยหลัง สร้อยปีก โคนสร้อย สีดำปลายสร้อยสีเหลืองมีจุดขาวอมเหลืองอยู่ปลายสร้อย เรียกว่า "ทับทิม หรือ ดาวเรือง" ไม่มีหย่อมกระพระเจ้า 5 พระองค์
  6. ไก่เหลืองเอกา หรือบางทีเรียกเหลืองธรรมดา ลักษณะเหมือนไก่เหลืองทั้ง 5 ต่างกันตรงที่ไม่มีหย่อมกระ พระเจ้า 5 พระองค์ ไม่มีจุดทับทิมหรือดาวเรืองในสร้อย สีสร้อยมีทั้งแก่ กลาง อ่อน
ในไก่เหลืองหางขาวทั้ง 6 ชนิดนี้ เราถือว่าเป็นไก่เหลืองหางขาวเหมือนกันหมด ไม่มีตัวใดเหนือตัวใด แต่ในกลุ่ม พระเจ้า 5 พระองค์จะเป็นที่นิยมในคนเลี้ยงมากกว่า ในการประกวดไก่เหลืองหางขาว ตามกฎ กติกา การประกวดและการตัดสิน ถือว่าไก่เหลืองหางขาวทุกตัวมี คุณค่าเท่าๆกัน จะแพ้ชนะกันอยู่ที่ความสวยงาม 5 ประการ คือ
  1. หน้าตา ตัวสวยงามหน้าจะแหลม กลมยาว หัว 2 ตอน ปากใหญ่ จมูกเรียบ หงอนหินกอดกระหม่อม เหนียงคางรัดเฟ้ด ขอบตา 2 ชั้นโค้งรี สีตาปลาหมดตาย จะเป็นไก่ฉลาด
  2. สีสัน ตัวสวยงาม สีขนพื้นตัว ขนปีกขนหางต้องถูกต้อง ขนสร้อยต้องเหลืองรับกันตลอดอย่างสม่ำเสมอ ขนแห้งสมบูรณ์มีน้ำขนจะเป็นไก่มีสกุล
  3. รูปร่าง ตัวสวยงาม ต้องรูประหง สูงใหญ่ จับกลมยาว 2 ท่อน ใหล่หน้าใหญ่บั้นท้ายโตแบน ปั้นขาใหญ่ คอยาวปล้องคอชิดแน่นวงเดียว หางยาว พัดคืบกะลวยศอก อุ้งหางชิด ปีกใหญ่แน่นยาวไม่แกว่ง จะเป็นไก่แข็งแรง
  4. แข้งขา-เกล็ด ตัวสวยงามต้องแข้งกลมเป็นลำเทียน ลำหวายหรือไม้คัด เกล็ดแข้งเรียงเป็นระเบียบ เป็นแถว เป็นแนว เป็นดอกเป็นดวง นิ้วยาวเรียวมีเกล็ดแตก เหน็บ แซม ที่นิ้วมาก เป็นเกล็ดพิฆาต เสือซ่อนเล็บ เหน็บใน ไชบาดาล ผลาญศัตรู งูจงอาอง กากบาท ดอกจัน จักรนารายณ์ ขุนแผนสะกดทัพ จะเป็นไก่ตีเจ็บ
  5. กิริยาชั้นเชิง ตัวสวยงาม ต้องยืน เดิน วิ่ง ท่าทางสง่าผ่าเผย เดินกำนิ้ว กระพือปีก เล่นสร้อย ส่งเสียงขัน ตลอดเวลา สัมผัสร่างจะมีเชิงนิยมจะเป็นไก่เหนือชั้นกว่าไก่อื่น ไก่ทุกตัวไม่ว่าเหลืองไหน ถ้ามีคุณสมบัติความงามครบ 5 ประการ หรือมีมากที่สุด ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ เช่น คอดอก เห็บเสี้ยน เท้าหน่อ ขี้ขาว หวัด จะเป็นไก่ชนะได้รับรางวัล

ประดู่เลาหางขาว

ไก่ชน ประดู่เลาหางขาว ไก่ชนพันธุ์ประดู่เลาหางขาว แหล่งกำเนิด เชื่อว่ามาจากพระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี กำแพงเพชร มีนบุรี หนองจอก สุโขทัย ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช ประเภท เป็นไก่ชนไทยขนาดกลาง ตัวผู้หนัก 3.00 - 4.00 กก. ตัวเมียหนัก 2.50 - 3.00 กก. สีของเปลือกไข่ เปลือกไข่สีน้ำตาลอ่อน สีของลูกเจี๊ยบ ขนหัว ขนคอขาว ขนหางดำ ปีกในสีดำ ปีกนอกสีขาว หน้าคอ หน้าท้องสีขาว ประวัติความเป็นมา ไม่ทราบแน่ชัดว่ามีความเป็นมาอย่างไร พัฒนามาจากไก่สายพันธุ์ใด ในประวัติศาสตร์ หรือการบันทึกยังไม่พบว่าเกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญท่านใดในประวัติศาสตร์
รูปร่างลักษณะของประดู่เลาหางขาว
  • รูปร่าง แบบทรงหงส์ ลำตัวยาว ไหล่ยก หางดกยาวเป็นฟ่อนข้าว เดินยืดท่าทางสง่างาม แข้งกลมแบบลำหวาย หน้ากลมยาวแบบหน้านก
  • ใบหน้า กลึงกลมแบบหน้านกเหยี่ยว เหนียงคางรัด
  • ปาก ปากใหญ่ ปลายปากงุ้มสีน้ำตาลอมเหลืองเล็กน้อย ปากมีร่องน้ำลึกทั้ง 2 ข้าง สีน้ำตาลอ่อน
  • จมูก จมูกแบนราบสีเดียวกับปาก รูจมูกกว้าง สันจมูกเรียบ สีเดียวกับปาก
  • ตา ขอบตาเป็นรูปวงรีแบบตาวัว ขอบตา 2 ชั้น นัยน์ตาดำ ตารอบนอกสีเหลืองแก่แบบสีไพล เส้นเลือดสีแดงชัดเจน
  • หงอน หน้าหงอนบาง กลางหงอนสูง ท้ายหงอนกอดกระหม่อม หงอนสีแดงสด พื้นหงอนเรียบ
  • ตุ้มหู ตุ้มหูสีแดงเหมือนหงอน ขนปิดรูหูสีประดู่เลา เหมือนขนสร้อย
  • เหนียง เหนียงเล็กสีแดงเหมือนหงอน รัดติดกับคาง
  • กะโหลก กะโหลกยาวกลมเป็น 2 ตอน ตอนหน้าเล็ก ตอนหลังใหญ่กว่า
  • คอ คอยาวใหญ่โค้งแบบคอม้า กระดูกปล้องคอชิดร่องคอ ขนสร้อยคอขึ้นดกเป็นระเบียบสีประดู่เลา
  • ปีก ปีกยาวใหญ่จรดก้น ขนปีกท่อนในขาวปนดำ ปีกท่อนนอกไชปีกขาว ปีกท่อนในไชปีกขาวปนดำ ปีกแน่นไม่เป็นร่องโหว่
  • ตะเกียบ ตะเกียบแข้งตรง ท้องแฟบรับกับตะเกียบ
  • หาง หางยาวดกเป็นระเบียบ สีขาวปนดำ หางพัดดำปลายขาว หางกะลวยคู่กลางสีขาวปลอด คู่อื่นๆสีขาวปนดำ หางดกยาวเป็นฟ่อนข้าว ก้านหางสีเดียวกับขน
  • แข้งขา ปั้นขาใหญ่ ห่างจากกัน ข้อขามั่นคง ขนปั้นขาสีดำ เป็นแข้งรูปลำเทียน ลำหวาย เกล็ดแข้ง 2 แถวเป็นระเบียบ นิ้วเรียวยาว แข้งสีเดียวกับปาก
  • เกล็ด เกล็ดนิ้ว เกล็ดแข้งเรียงเป็นระเบียบสีเดียวกับปาก
  • นิ้ว นิ้วยาวเป็นลำเทียน ข้อนิ้วมีท้องปลิงหนา
  • เดือย เดือยเป็นเดือยแบบลูกปืน หรือแบบงาช้าง แข็งแรงมั่นคง
  • ขน ขนพื้นตัวสีดำ ขนกะลวยคู่กลางสีขาว คู่อื่นๆสีขาวปลายดำ ขนสร้อยคอ
  • สร้อยปีก และสร้อยหลัง สีประดู่เลา คือโคนสร้อยสีขาว ปลายสร้อยสีประดู่
  • เล็บ มั่นคงแข็งแรง สีเดียวกับเกล็ดแข้งและปาก
  • สร้อย สร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง สีประดู่เลา คือ ขนสร้อยท่อนล่างสีขาว ท่อนปลายสีประดู่
  • กระปุกน้ำมัน เป็นกระปุกใหญ่ ปลายเดียว
ประดู่เลามี 4 เฉดสี คือ
  1. ประดู่เลาใหญ่ หรือเรียกอีกชื่อว่าเลาใหญ่พระเจ้า 5 พระองค์ ขนพื้นตัวสีดำ ขนปีก ขนหางเป็นสีดำแซมขาว ขนหางกะลวยคู่กลางสีขาวปลอด คู่อื่นๆสีขาวปลายดำ ที่หัว-หัวปีก-ข้อขา มีกระขาว ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยระย้า โคนสร้อยสีขาว ปลายสร้อยสีเม็ดมะขามแก่ ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีน้ำตาล ตาสีไพล
  2. ประดู่เลาเล็ก ขนพื้นตัวสีดำ ขนปีก ขนหางพัดสีดำแซมขาว ขนหางกะลวยคู่กลางสีขาว คู่อื่นๆสีขาวปลายดำ ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง ระย้า โคนขนสีขาว ปลายขนสีเม็ดมะขามแก่ ไม่มีหย่อมกระ ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีน้ำตาล ตาสีไพล
  3. ประดู่เลาแดง ขนพื้นตัวสีดำ ขนปีก ขนหางพัดสีดำแซมขาว ขนหางกะลวยคู่กลางสีขาว คู่อื่นๆสีขาวปลายดำ ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง ระย้า โคนสร้อยสีขาว ปลายสร้อยสีประดู่แดง ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีน้ำตาล ตาสีไพลหรือส้ม
  4. ประดู่เลาดำ ขนพื้นตัวสีดำ ขนปีก ขนหางพัดสีดำแซมขาว ขนหางกะลวยคู่กลางสีขาว คู่อื่นๆสีขาวปลายดำ ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีน้ำตาล ตาสีไพล ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลัง โคนสร้อยสีขาว ปลายสร้อยสีคล้ำเข้มแบบเขียวประดู่

ทองแดงหางดำ

ไก่ชน พันธุ์ ทองแดงหางดำ ไก่ชนพันธุ์ทองแดงหางดำ ไก่ชนสายพันธุ์นี้ เป็นพันธุ์แท้แต่โบราณ ทราบได้สมัยอยุธยา ตอนฉลองกรุงหงสาวดีจัดให้มีการชนไก่ หน้าพระที่นั่งพระเจ้าบุเรงนอง สมเด็จพระนเรศวรมหาราชครั้นยังทรงพำนักอยู่หงสาวดี ได้มีรับสั่งให้สมเด็จพระน้องยาเธอ พระเอกาทศรถ นำไก่ไทยไปร่วมชนในงานฉลองกรุงหงสาวดีครั้งนั้นด้วยไก่ทองแดงหางดำ ได้ไปสร้างชื่อเสียงเอาชนะไก่พม่าได้อย่างง่ายดาย
แหล่งกำเนิด ไก่ทองแดงหางดำ มีแหล่งกำเนิดอยู่ทั่ว ๆ ไป ไก่ดังในอดีตที่ เพชรบุรี ราชบุรี อยุธยา ชลบุรี สุพรรณบุรี พิจิตร เพชรบูรณ์ เป็นต้น ไก่ทองแดงหางดำ เป็นไก่ขนาดกลาง น้ำหนักโดยเฉลี่ยตัวผู้ประมาณ 3-3.5 กิโลกรัม ตัวเมีย 2.5-3 กิโลกรัม สีของเปลือกไข่และลูกเจี๊ยบ เปลือกไข่สีน้ำตาลอมแดง ลูกเจี๊ยบสีแดง ทั้งตัวแบบไก่โร้ดไอร์แลนด์เรด ปาก แข็ง เล็บ เดือยสีเหลืองอมแดง ตาสีแดงอ่อน อาจารย์พนได้เป็นผู้ให้ข้อมูล ดังนี้
รูปร่างลักษณะไก่ทองแดงหางดำ มี
  • รูปร่าง ทะมัดทะแมง ทรงหัวปลีกล้วย ช่วงไหล่กว้าง อกเป็นมัด มีกล้ามเนื้อลำตัวยาวจับกลม 2 ท่อน ไหล่หน้าใหญ่ บั้นท้ายโต ปั้นขาใหญ่แข็งแรง หางดกยาวเป็นฟ่อนข้าวหรือแบบหางม้า
    ใบหน้า แหลมกลมอูมแบบนกกา
  • ปากปากใหญ่แบบปากนกกา ปลายปากงองุ้มเล็กน้อย ปากมีร่องน้ำทั้ง 2 ข้าง ปากสีเหลืองอมแดง
  • จมูก จมูกแบบราบสีเดียวกับปาก รูจมูกกว้าง แคมหรือฝาปิดจมูกสีเดียวกับปาก
    ตา ขอบตาเป็นรูปวงรี มีขอบตา 2 ชั้น ดวงตาสีแดง มีประกายแจ่มใส คิ้วขอบตานูนรับกับตา
  • หงอน หงอนเป็นหงอนหิน 3 แฉก ผิวหงอนเรียบสีแดงสดใส
  • ตุ้มหู ตุ้มหูรัดติดกับหูมีสีแดงเหมือนหงอน
  • เหนียง รัดกลมกลึงติดกับคาง บางตัวอาจมีเหนียงแลบออกมาเล็กน้อย สีแดงสดใสแบบหงอน และตุ้มหู
  • กะโหลก กะโหลกใหญ่และยาวเป็น 2 ตอน ส่วนหน้าเล็กกว่าส่วนท้าย มีรอบไขหัวเห็นได้ชัดเจน
  • คอ คอใหญ่ยาวโค้งไปข้างหน้าแบบคอม้า กระดูกปล้องคอชิดแน่นรับกับร่องไหล่ ขนคอขึ้นเป็นระเบียบสีเดียวกับขนหลังขนสร้อยคอยาวประบ่า
  • ปีก ปีกใหญ่และยาวแน่น ขนปีกเรียงเป็นระเบียบ ไม่มีช่องโหว่ไขไชปีกจะมีสีดำแน่น จนปีกใน สีแดงเหมือนขนพื้นตัว
  • ตะเกียบ แข็งหนาและตรง
  • หาง หางพัดปลายมนกลม สีดำยาวไม่ต่ำกว่า 1 คืบ หางกะลวยเส้นเล็กกว่าหางพัดปลายแหลมยาว ไม่ต่ำกว่า 1 ฟุต หางกะลวยดกเป็นฟ่อนข้าวหรือแบบหางม้า กระเบนหางใหญ่ชิดกับกระดูกสันหลัง กระปุกน้ำมันใหญ่มีอันเดียว
  • แข้งขา ปั้นขาใหญ่ล่ำสัน มีขนสีแดงขึ้นเต็มถึงข้อขา แข้งสีเหลืองอมแดง แข้งกลมแบบลำหวายหรือ ลำเทียน
  • เกล็ด เกล็ดเป็นเกล็ดพัดใหญ่ ๆ เรียงเป็นระเบียบ 2-3 แถว สีเดียวกับแข้ง มักมีเกล็ดสำคัญ เช่น เสือซ่อนเล็บ เหน็บใน ไชบาดาล ผลาญศัตรูหรือเกล็ดอื่นๆในไก่ตัวดีๆ
  • นิ้ว-เล็บ นิ้วกลมยาวเรียบแบบเล่มเทียน เล็บและเกล็ดสีเดียวกับแข้ง มักมีเกล็ดนิ้วแตกเป็นเกล็ด พิฆาตเล็บเรียวแหลม จมูกเล็บแน่น
  • เดือย เป็นเดือยขนเม่นหรืองาช้าง สีเดียวกับแข้งและเกล็ด
  • ขน ขนพื้นตัวตั้งแต่หน้าคอ หน้าอก ใต้ปีก ใต้ท้อง จะมีสีแดง ขนสร้อยคอ สร้อยปีก สร้อยหลังระย้า ขนปิดหู จะมีสีแดงเป็นมัน ขนไชปีก ขนหางพัด หางกะลวยสีดำ
  • กิริยาท่าทาง ไก่ทองแดงหางดำ เป็นไก่ที่มีกิริยาท่าทางองอาจ ทะมัดทะแมงแบบไก่ประดู่หางดำ จะยืนเดินวิ่งชนดูคล่องแคล่วแข็งแรง จะยืนกระพือปีกตลอดเวลา เมื่อพบไก่อื่นๆ จะแสดงท่าอาการต่อสู้เสมอ ไก่ทองแดงเป็นไก่ชนเชิงหลัก มัด ตั้ง กอด คุมตีบน ตีเท้าบ่าเป็นส่วนใหญ่
ไก่ทองแดงหางดำแบ่งตามเฉดสีได้ 4 ชนิด คือ
  1. ทองแดงใหญ่ ขนพื้นตัวและขนสร้อยจะมีสีเข้มแดงอมดำ ปากแข็ง เล็บเดือยสีเหลือง อมแดงอม ดำตาแดง ไก่ทองแดงใหญ่บางแห่งเรียกว่าไก่ทับทิม
  2. ทองแดงตะเภาทอง ขนพื้นตัวและขนสร้อยจะสีออกเหลืองส้มตามแบบไก่ตะเภาหรือสีแบบสีทองคำแท่ง ปาก แข้ง เล็บ เดือย มีสีเหลืองอมแดง ตาเหลืองอมแดง
  3. ทองแดงแข้งเขียวตาลาย ขนพื้นตัวขนสร้อยจะสีเข้มอมดำคล้าย ๆ แดงใหญ่ แต่ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีเขียวอมดำ ตาลาย แดงดำ
  4. ทองแดงอ่อนหรือสีปูนแห้ง ขนพื้นตัว ขนสร้อย จะสีแดงซีด ๆ แดงอ่อนๆ ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีขาวอมแดงเหมือนกับตะเภาทอง
ลักษณะเด่นประจำพันธุ์ไก่ทองแดงหางดำเพศเมีย
  1. ขนพื้นตัวด้านล่าง หน้าคอ หน้าอก ใต้ปีก ใต้ท้อง ก้น สีแดง
  2. ขนคอ ขนหลัง ขนปีก สีแดงแก่กว่าขนพื้นตัวเล็กน้อย
  3. ขนสร้อยคอ จะมีแดงขลิบแลบออกมาเล็กน้อยตามเฉดสีแต่ละชนิด ขนปิดหูสีแดง
  4. ขนไชปีก ขนหางพัดสีดำ ขนทับหางสีแดง
  5. ปาก แข้ง เล็บ เดือย สีเหลืองอมแดง จะเข้มหรืออ่อนตามเฉดสีพันธุ์ตาสีแดง
  6. ไก่ทองแดงเพศเมียจะเป็นไก่ทรงรูปปลีกล้วย ไหล่หน้าจะใหญ่ ท้ายจะมนกลม กระโปรงหางจะรัดและยาวแบบตัวผู้

ก่ชนพันธุ์เขียวหางดำหรือเขียวกา

ไก่ชน พันธุ์เขียวหางดำ หรือ เขียวกา เขียวหางดำ หรือ เขียวกา บางแห่งเรียกว่า "เขียวพาลี หรือเขียวไข่กา" เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดมาจากทางภาคใต้และตะวันออก มีลักษณะเด่นๆ พอที่จะสังเกตได้ดังนี้
  • ลักษณะทั่วไปคล้ายๆ กับประดู่หางดำ ปากดำ
  • หงอนหิน หน้าหงอนบางกลางหงอนสูง ท้ายหงอนจะตกกดกระหม่อม
  • สร้อยปีก สร้อยคอ สร้อยคอหลังและสร้อยหางสีเขียวคล้ายปีกแมลงภู่
  • ขนปีกและลำตัวเขียวหรือเขียวอมดำ หางสีดำ
  • แข้งดำ เล็บดำ



Thailand Web Stat

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น